ที่จริงเรื่องที่ผมจะเขียนถึงต่อไปนี้ ไม่ใช่ที่มาของปัญหาเฉพาะในสังคมม้งเราเท่านั้น หากแต่เป็นสาเหตุหลักๆ ของปัญหาวัยรุ่น และปัญหาอาชญากรรมทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ตามที่สองนักเศรษฐศาสตร์อย่าง Steven D. Levitt และ Stephen J. Gubner ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือของพวกเค้า ที่ชื่อ “Freakonomics” หรือชื่อไทยว่า “เศรษฐพิลึก” ซึ่งเป็นการลบล้างความเชื่อในแบบเดิมๆ ด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ิ
จากที่ผมได้เขียนเอาไว้ในหัวข้อ “ม้ง และโครงสร้างครอบครัวที่ซับซ้อน” บวกกับบทความของพี่ โดมดอย ในหัวข้อ “เธอตาย เพราะอายฉัน” เมื่อนำมาปะติดปะต่อเข้ากับสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองท่านได้พูดเอาไว้ ทำให้ผมคิดว่านี่แหละ คือ ที่มาของปัญหาวัยรุ่นม้งในปัจจุบัน
นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า ลูกที่เกิดในครอบครัวที่พร้อมกว่า ย่อมมีแนวโน้มที่จะเป็นอาชญากรน้อยกว่าลูกที่เกิดในครอบครัวที่แร้นแค้น นั่นคือความพร้อมในการมีลูก ส่งผลต่อการลดลงของปัญหาอาชญากรรมได้มากกว่าปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฏหมาย หรือแม้แต่จำนวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตาม
โดยนักเศรษฐศาตร์ทั้งสองท่านได้ชูเรื่องกฎหมายอณุญาตให้ทำแท้ง ว่าเป็นหัวใจที่ก่อให้เกิดการลดลงของปัญหาอาชญากรรมอย่างน่าทึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นหมายความว่าเมื่อมีกฎหมายอณุญาตให้ทำแท้ง ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แต่ยังไม่พร้อมที่จะรับภาระเลี้ยงดูลูกในครรภ์ที่กำลังจะเกิดมา ผู้หญิงคนนั้นก็สามารถที่จะทำแท้งได้ ในทางตรงกันข้ามหากกฎหมายไม่อณุญาตให้พวกเธอทำแท้ง ลูกที่ลืมตามาดูโลก อาจได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่ดีพอจากผู้เป็นแม่ที่ไม่มีความพร้อม และสุดท้ายเมื่อเด็กคนนี้โตขึ้น อาจก่อปัญหาให้กับสังคมได้ในที่สุด
ประเด็นที่ผมต้องการสื่อไม่ใช่เรื่องของการทำแท้ง หรือเรียกร้องกฎหมายอณุญาตให้ทำแท้ง แต่ผมต้องการที่จะพูดถึงในเรื่องของความพร้อมในการมีลูก (ทั้งในแง่ของเวลา และจำนวนบุตร) และการวางแผนครอบครัว
ปัจจุบันเราอาจมองเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการมีลูกมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ชุมชนม้งบางแห่งยังคงมีลูกหลายคน ตามแต่ความรู้ และความเจริญจะเข้าไปถึง ชุมชนม้งที่ยังคงใช้แรงงานในพื้นที่เป็นหลัก (ใช้ชีวิตอยู่กับไรกับสวน) ก็อาจจะยังมีลูกหลายคน แต่สำหรับครอบครัวม้งที่ต้องทำมาหากินอยู่ในเมืองใหญ่ อาจจะมีบุตรแค่คนหรือสองคนเท่านั้น
สำหรับครอบครัวม้งที่ยังคงมีลูกหลายคนนั้น ไม่ใช่ว่าพวกเค้าไม่พร้อม หากแต่เป็นความพร้อมตามอัตภาพ หรือตามสภาพของความเป็นอยู่ และที่สำคัญเป็นเพราะการขาดความรู้ในเรื่องของการวางแผนครอบครัว หรือรู้แต่อาจไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะมองไม่เห็นความจำเป็น เนื่องด้วยว่าชีวิตในถิ่นทุรกันดารนั้น คุณไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันด้านเศรษฐกิจอะไรมากมาย อีกทั้งแรงงานในครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อเรายังคงมีลูกมาก การเลี้ยงดูย่อมไม่ดีพอ ที่สำคัญคือดูแลได้ไม่ทั่วถึง ย่อมมีโอกาสสูงที่ลูกๆ จะไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ดี รวมไปถึงเรื่องของการชกต่อย ทะเลาะวิวาท ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ม้งเราต้องให้ความสำคัญ และจริงจังกับเรื่องนี้ หากพี่น้องม้ง (องค์กร หรือชมรม) กลุ่มใดที่มีแนวคิดในการเข้าไปพัฒนาม้งในถิ่นทุรกันดาร ผมก็อยากจะฝากรณรงค์ในเรื่องของ “การวางแผนครอบครัว” ด้วย ไม่ใช่แค่ไปแจกของ หรือสร้างห้องน้ำให้เค้า เพราะสิ่งสำคัญในระยะยาวคือ ความรู้ ไม่ใช่วัตถุ